รายละเอียดการตอบคำถาม

คำถาม : ข้อเสนอแนะที่ห้องสมุดและอินเตอร์เน็ตมหาวิทยาลัย

1.ช่วยกำชับให้พนักงานตั้งใจทำงานไม่พาลูกเด็กๆมาเลี้ยงมาเล่นรบกวนในห้องสมุดได้หรือไม่เสียงเด็กๆร้องเล่นดังมาก เห็นพนักงานหลายคนเอาแต่เล่นเอ็มบางคนก็อ่านแต่นิยายไม่เห็นปฏิบัติหน้าที่ หนังสือวางผิดที่ผิดทางทำไมไม่เอาเวลาไปเดินจัดให้อยู่ตรงที่ตรงทางจะได้หาได้ง่ายๆ 2.หนังสือก็หายากมากและจำนวนเล่มน้อยตกแต่งใหม่สวยดีแต่ไม่มีหนังสือที่ต้องการอ่านมันก็เหมือนที่นั่งเล่นธรรมดาอยากให้เพิ่มจำนวนหนังสือหลายๆก๊อป**หน่อยโดยเฉพาะหนังสือแคล**ลัสและคอมพิวเตอร์ 3.อยากให้หานิตยสารเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมภายในอย่างเช่นนิตยสาร Room เพิ่มเติม เห็นมีแต่บ้านและสวนเท่านั้นเอง 4.อินเตอร์เน็ตช้ามากไม่รู้จะช้าอะไรได้ขนาดนี้เจ้าหน้าที่ IT น่าจะเลิกเล่นเอ็มแล้วปรับปรุงให้มันเร็วมากกว่านี้ได้แล้ว ร้านเน็ตเขาบริการได้เร็วมาก แต่ที่นี่เป็นมหาวิทยาลัยใช้คำว่าเทคโนโลยีด้วยน่าจะทำได้ดีกว่าร้านเน็ต 5.ห้องน้ำชั้นล่างด้านนอกอาคารห้องสมุดเหม็นมากอยากให้ทำความสะอาดบ่อยๆ หน่อย 6.ที่จอดรถหน้าห้องสมุดเวลาจอดด้านในเอารถออกยากมาก ต้องไปขยับรถที่มาจอดบังทางออกเสมอเลย 7.ค่าปรับโหดมาก อยากให้ลดค่าปรับลงหน่อย
โดย : นักศึกษา
เมื่อ : 2009-11-25 20:33:00

คำตอบ

ชี้แจงคำถาม/ข้อเสนอแนะ สายตรงอธิการบดี
ข้อเสนอแนะที่ห้องสมุดและอินเทอร์เน็ตมหาวิทยาลัย
1. ช่วยกำชับให้พนักงานตั้งใจทำงาน ไม่พาลูกเด็กๆ มาเลี้ยงมาเล่นรบกวนในห้องสมุดได้หรือไม่ เสียงเด็กๆ ร้องเล่นดังมาก เห็นพนักงานหลายคนเอาแต่เล่นเอ็มบางคนก็อ่านแต่นิยายไม่เห็นปฏิบัติหน้าที่ หนังสือวางผิดที่ผิดทาง ทำไมไม่เอาเวลาไปเดินจัดให้อยู่ตรงที่ตรงทางจะได้หาง่าย
ชี้แจง
1.1 จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ในแผนกงานห้องสมุดและศูนย์การเรียนด้วยตนเอง ไม่มีบรรณารักษ์หรือเจ้าหน้าที่นำลูกหรือหลานมาวิ่งเล่นส่งเสียงดังในห้องสมุด แต่ในช่วงปิดภาคเรียนมีผู้ใช้บริการบางท่านให้ลูกหลานมาอ่านหนังสือ หรือดูวิดีโอ หรือใช้อินเทอร์เน็ต ในห้องสมุดและศูนย์การเรียนด้วยตนเอง และด้วยนิสัยของเด็กบางครั้งอาจมีการพูดจาเสียงดังหรือเล่นกันบ้าง
วิธีการแก้ไขปัญหา
1) ห้ามเจ้าหน้าที่รับฝากเด็กที่ไม่มีผู้ปกครองดูแลไว้ในห้องสมุดหรือศูนย์การเรียนด้วยตนเอง
2) หากมีเด็กมาทำเสียงดังรบกวนผู้ใช้บริการท่านอื่น ให้เจ้าหน้าที่ตักเตือนให้ปฏิบัติตามระเบียบการใช้บริการ แต่อาจจะไม่ค่อยได้ผลมากนัก เนื่องจากเจ้าหน้าที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวจะไม่ค่อยกล้าบอกอาจารย์/ลูกอาจารย์
1.2 การที่เห็นเจ้าหน้าที่ส่งเอ็มกันนั้น บรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่แผนกห้องสมุดใช้ในการติดต่อกันภายในหน่วยงาน และภายนอกหน่วยงาน เนื่องจากการทำงานในยุคปัจจุบัน มีการใช้เอ็มเป็นวิธีการวิธีหนึ่งในการติดต่อสื่อสารที่ประหยัด ส่งข้อมูลและข้อความได้อย่างรวดเร็ว
1.3 การที่เจ้าหน้าที่หรือบรรณารักษ์อยู่ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวันนั้น เพราะห้องสมุด สวท. มทร.อีสาน ใช้ระบบห้องสมุดอัตโนมัติในการจัดการงาน ไม่ว่าจะเป็นงานจัดซื้อ งานวิเคราะห์ทรัพยากร งานยืม-คืน งานทะเบียน งานวารสาร งานเสนอซื้อทรัพยากร และงานให้บริการสืบค้น ดังนั้นบรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่จะต้องทำงานอยู่ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นส่วนใหญ่
1.4 การที่เห็นเจ้าหน้าที่อ่านนิยาย อาจเนื่องจากในการวิเคราะห์หนังสือบรรณารักษ์จะต้องมีการอ่านเพื่อวิเคราะห์เนื้อหาของหนังสือ และแบ่งหมวดหมู่หนังสือให้ถูกต้อง หลังจากนั้น บรรณารักษ์ก็ต้องคีย์ข้อมูลลงรายบรรณานุกรมในฐานข้อมูล โดยปกติบรรณารักษ์จะต้องวิเคราะห์ในห้องเฉพาะ แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่และบรรณารักษ์ สวท. มีไม่เพียงพอ จึงต้องแก้ปัญหาโดยให้บรรณารักษ์ทำงานวิเคราะห์และให้บริการที่เคาน์เตอร์ไปพร้อมกันด้วย ซึ่งอาจทำให้ผู้ใช้บริการเข้าใจผิดคิดว่า บรรณารักษ์/เจ้าหน้าที่กำลังอ่านหนังสือนวนิยาย/เล่นเอ็มอยู่
1.5 การจัดหนังสือขึ้นชั้น มีดังนี้
1.5.1 หนังสือวิชาการภาษาไทยภายหลังจากการปรับปรุงพื้นที่จัดหนังสือวิชาการภาษาไทยไว้ชั้นเดียวกันทั้งหมด (ชั้น 3) ทำให้มีปริมาณหนังสือและปริมาณการใช้จำนวนมาก โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำเคาน์เตอร์บริการและดำเนินการจัดหนังสือขึ้นชั้นตลอดทั้งวัน เพียง 1 คน
1.5.2 หนังสือวิชาการภาษาอังกฤษ ที่ผ่านมาจัดหนังสือขึ้นชั้นวันละ 2 ครั้ง คือ ช่วงเช้าประมาณ 9.00 – 10.00 น. และช่วงเย็นประมาณ 17.00 – 18.00 น. แต่หลังจากมีข้อร้องเรียนจะดำเนินการปรับจากช่วงเย็นเป็นช่วงบ่ายประมาณ 13.00 – 14.00 น.
1.5.3 วารสาร สิ่งพิมพ์ต่อเนื่อง สิ่งพิมพ์รัฐบาล และวิทยานิพนธ์ จัดชั้นวันละ 2 ครั้ง คือ ช่วงเช้าประมาณ 9.00 – 10.00 น. และช่วงเย็นประมาณ 17.00 – 18.00 น. พร้อมดำเนินการเปลี่ยนวารสารและสิ่งพิมพ์ต่อเนื่องฉบับใหม่

2. หนังสือก็หายากมากและจำนวนเล่มน้อย ตกแต่งใหม่สวยดีแต่ไม่มีหนังสือที่ต้องการอ่านมันก็เหมือนที่นั่งเล่นธรรมดาอยากให้เพิ่มจำนวนหนังสือหลายๆ ก็อป***หน่อยโดยเฉพาะหนังสือแคลคูลัสและคอมพิวเตอร์
ชี้แจง
2.1 ห้องสมุดได้มีการจัดหนังสือขึ้นชั้นอย่างสม่ำเสมอแล้วตามข้อ 1.5 นอกจากนี้เจ้าหน้าที่และบรรณารักษ์ที่จัดชั้นหนังสือมีภาระงานอื่นด้วย เช่น วิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ จัดทำฐานข้อมูล จัดทำ กฤตภาค เย็บเล่มจัดทำปกหนังสือใหม่ ซ่อมแซมหนังสือชำรุด เป็นต้น
2.2 หนังสือจำนวนเล่มน้อย ปกติหนังสือวิชาการภาษาไทยจัดซื้อ 2 ฉบับ เหมือนมหาวิทยาลัยที่มีงบประมาณมาก เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หนังสือวิชาการภาษาอังกฤษจัดซื้อ 1 - 2 ฉบับ ขึ้นอยู่กับราคา เพราะต้องการให้สามารถจัดหาทรัพยากรสารสนเทศได้หลากหลายจากงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่หากมีความจำเป็นอาจารย์สามารถขอเป็นกรณีพิเศษให้จัดซื้อมากกว่ากำหนดได้ เช่น ในภาคเรียน 1/2552 อาจารย์สาขาวิชาวิชาเคมีประยุกต์ได้เสนอให้จัดซื้อหนังสือจำนวน 11 รายการๆ ละ 20 – 30 ฉบับ เป็นต้น

3. อยากให้หานิตยสารเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมภายในอย่างเช่น นิตยสาร Room เพิ่มเติม เห็นมีแต่บ้านและสวนเท่านั้นเอง
ชี้แจง
3.1 แผนกงานห้องสมุด มีวารสาร/นิตยสาร ให้บริการทั้งหมด 468 รายการ โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
1) วารสารบอกรับภาษาไทย 37 รายการ
2) วารสารบอกรับภาษาต่างประเทศ 7 รายการ
3) วารสารที่บริจาคทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ 262 รายการ
4) จุลสาร/เอกสารข่าว/จดหมายข่าว 120 รายการ



** งานวารสารและสิ่งพิมพ์ต่อเนื่อง แผนกงานห้องสมุด มีวารสาร/นิตยสาร ทางด้านสถาปัตยกรรม ดังนี้
1) บ้านและสวน (บอกรับ)
2) บ้านในฝัน (บอกรับ)
3) คู่บ้าน (บริจาค)
4) Art 4d (บอกรับ)
5) 4d file (บริจาค)
6) หน้าจั่ว (บริจาค)
7) อาษา (บริจาค)
8) วิชาการคณะศิลปะและการออกแบบ ม.รังสิต (บริจาค)
9) วิชาการคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ (บริจาค)
3.2 ทางแผนกงานห้องสมุดได้เปิดช่องทางให้ผู้ใช้บริการเสนอความต้องการเพื่อจัดหาวารสาร/นิตยสาร หรือหนังสือ ได้ตลอดทั้งปีหลายช่องทางดังนี้
1) การจัดตลาดนัดหนังสือ (Book Fair) ประจำปี
2) กรอกแบบฟอร์มเสนอรายชื่อวารสาร/นิตยสารหรือหนังสือ ได้ที่แผนกงานห้องสมุด
3) เสนอผ่านทางเว็บไซต์ห้องสมุด สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ
4. อินเทอร์เน็ตช้ามากไม่รู้จะช้าอะไรได้ขนาดนี้เจ้าหน้าที่ IT น่าจะเลิกเล่นเอ็มแล้วปรับปรุงให้มันเร็วมากกว่านี้ได้แล้ว ร้านเน็ตเขาบริการได้เร็วมาก แต่ที่นี้เป็นมหาวิทาลัยใช้คำว่าเทคโนโลยีด้วยน่าจะทำได้ดีกว่าร้านเน็ต
ชี้แจง
4.1 กรณีการเล่นเอ็มเอสเอ็น(MSN) ของบุคลากรฝ่ายไอที
บุคลากรฝ่ายไอทีใช้โปรแกรมเอ็มเอสเอ็นทุกคน เพราะเป็นเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ใช้สำหรับการติดต่อสื่อสารทั้งแบบทันทีเช่นเดียวกับโทรศัพท์ และฝากข้อความไว้ได้เช่นเดียวกับเพจเจอร์ เหมาะกับการทำงานของบุคลากรในฝ่ายไอทีที่เปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานตลอดเวลาอยู่แล้ว รวมถึงการติดต่อสื่อสารระยะไกลกรณีที่บุคลากรเดินทางไปปฏิบัติราชการนอกพื้นที่ ทั้งนี้การพูดคุยในลักษณะที่ไม่ใช่การทำงานก็มีบ้างเช่นกัน ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับบุคลากรอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยที่ใช้โทรศัพท์เพื่อติดต่อเรื่องส่วนตัวในเวลางาน
4.2 กรณีความล่าช้าของการใช้งานอินเทอร์เน็ต
ความล่าช้าของการใช้งานอินเทอร์เน็ตจากการใช้งานของผู้ใช้นั้น มีหลายองค์ประกอบทั้งที่เป็นส่วนที่แก้ไขได้ และแก้ไขไม่ได้ มีรายละเอียดดังนี้
4.2.1 การปรับปรุงการเชื่อมต่อเครือข่ายในช่วงต้นปีงบประมาณ 2553
1) การเปลี่ยนเส้นทางการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจาก มทร.อีสาน ผ่านเครือข่ายของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีไปยังเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา (UniNet) ซึ่งบริหารจัดการโดย สกอ. (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) จากความเร็วของช่องสัญญาณ 100Mbps ในปีงบประมาณ 2552 ไปเป็น 1Gbps ในปีงบประมาณ 2553 และ สกอ. เป็นผู้รับผิดชอบด้านงบประมาณนับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 เป็นต้นไป การดำเนินการดังกล่าวได้ดำเนินการเมื่อ พฤศจิกายน 2552 ต้องมีการปรับเปลี่ยนการเชื่อมต่อ ทดสอบความเร็วและอื่นๆ ทำให้ขาดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในบางครั้ง
2) การดำเนินการในข้อ 4.2.1 เป็นผลให้ต้องปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่เป็นทางผ่านของข้อมูล ที่จำเป็นที่สุดประกอบด้วย อุปกรณ์เราท์เตอร์ (Router) อุปกรณ์ไฟร์วอลล์ (Firewall) แม่ข่ายระบบยืนยันตัวบุคคลก่อนใช้บริการอินเทอร์เน็ต และอุปกรณ์กระจายสัญญาณสำหรับการเชื่อมต่อ โดยอุปกรณ์ที่ใช้ในปัจจุบันรองรับการสื่อสารที่ความเร็ว 100Mbps เท่านั้น ทำให้เกิดเป็นคอขวดของเส้นทางข้อมูล การดำเนินการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่องานวิชาการได้จัดทำโครงการจัดซื้ออุปกรณ์ทดแทน โดยลำดับขั้นการดำเนินการโครงการที่ผ่านมาประกอบด้วย
- จัดทำและเสนอขออนุมัติโครงการจากจนกระทั่งได้รับอนุมัติโครงการแล้ว
- เสนอชื่อคณะกรรมการประกอบการประกวดราคา จัดทำร่างขอบเขตของงาน (TOR) เสร็จแล้ว และส่งให้กองกลางเพื่อดำเนินการตามกระบวนการทางพัสดุต่อไปแล้วเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2552
3) การแก้ปัญหาในเบื้องต้นที่ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่องานวิชาการได้ดำเนินการไปแล้วคือ
- นำคอมพิวเตอร์แม่ข่ายบริการอื่นในห้องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายที่ใช้งานในปัจจุบันมาติดตั้งใช้งานเป็นการชั่วคราวสำหรับทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์เราท์เตอร์และแม่ข่ายระบบยืนยันตัวบุคคลก่อนใช้บริการอินเทอร์เน็ต ทำให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น แต่ยังคงไม่เพียงพอ
- ประสานผู้ขายอุปกรณ์ไฟร์วอลลร์เพื่อขอทดสอบอุปกรณ์ไฟร์วอลล์ชั่วคราวในระหว่างที่รอการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ตัวใหม่
การดำเนินการดังกล่าวทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตขาดหายบ่อยครั้ง เพราะต้องเปลี่ยนอุปกรณ์บ่อย และทุกครั้งที่เปลี่ยนอุปกรณ์ จะต้องกำหนดคุณสมบัติของอุปกรณ์ใหม่ทุกครั้ง มีความยุ่งยากและใช้เวลาในการกำหนดคุณสมบัติอุปกรณ์แต่ละยี่ห้อแตกต่างกันไป
4) การปรับเปลี่ยนช่องสัญญาณการสื่อสารระหว่างวิทยาเขต จากเดิมในปีงบประมาณ 2552 มีความเร็ววิทยาเขตละ 20Mbps รวมเป็น 40Mbps มาเป็นวิทยาเขตละ 50Mbps รวมเป็น 200Mbps ในปีงบประมาณ 2553 ทำให้มีความต้องการความเร็วของช่องสัญญาณเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตามข้อ 1.1 มากขึ้น และได้รับผลกระทบเดียวกันที่เกิดจากข้อ 1.2 ที่ต้องการอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะนำส่งข้อมูลความที่เร็วดังกล่าว ทำให้ผู้ใช้มีความรู้สึกว่าใช้งานอินเทอร์เน็ตล่าช้า
4.2.2 จำนวนผู้ใช้งานและปริมาณข้อมูลจากการใช้บริการบนอินเทอร์เน็ตมีมากขึ้น
1) จำนวนผู้ใช้ที่มีมากขึ้น เกิดจากการมีคอมพิวเตอร์ใช้งานมากขึ้น ตัวอย่างเช่น คอมพิวเตอร์ห้องปฏิบัติการของคณะหรือสาขามีมากขึ้น นักศึกษาซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมาใช้มากขึ้น ทั้งที่อยู่ในหอพักนักศึกษา และคอมพิวเตอร์แบบพกพา ทำให้เกิดการแบ่งการใช้ช่องสัญญาณการสื่อสารร่วมกันมากขึ้น
2) มีบริการและการใช้บริการบนอินเทอร์เน็ตที่มีปริมาณข้อมูลจำนวนมาก เช่น การดูวิดีโอจากบริการของ Youtube.com การฟังหรือดาวน์โหลดเพลง การใช้บริการเครือข่ายสังคม(Social Network) ที่มีรูปภาพจำนวนมากและต้องเปลี่ยนแปลงข้อมูลบ่อยครั้ง เช่น hi5.com facebook.com เป็นต้น รวมถึงการแสดงข้อมูลบนเวปไซต์ที่มีรูปแบบเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมและมีขนาดข้อมูลมากขึ้นทุกๆ วัน
3) การใช้งานบางบริการบนอินเทอร์เน็ตทั้งที่มีให้บริการอยู่แล้วในมหาวิทยาลัย เช่น บริการจดหมายอิเล็กทรอนิกส์
ปริมาณข้อมูลจากการใช้งานเครือข่ายอินเทอร์เน็ตโดยรวมของมหาวิทยาลัยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 150Mbps และมีปริมาณสูงสุดที่ประมาณ 200Mbps ทั้งนี้ โดยข้อมูลในศูนย์กลางมีปริมาณเฉลี่ยที่ประมาณ 80Mbps สูงสุดที่ 100Mpbs และมีจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์หรือผู้ใช้คอมพิวเตอร์ใช้บริการอินเทอร์เน็ตพร้อมกันในช่วงเวลาที่มีการใช้งานสูงสุดที่ประมาณ 500 คน ปริมาณข้อมูลดังกล่าวมาจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลักที่ไม่ขึ้นต่อกันคือ
- ความเร็วของระบบผู้ให้บริการบนอินเทอร์เน็ต เช่น เวปเซิร์ฟเวอร์
- ความเร็วและประสิทธิภาพของเครือข่ายภายในมหาวิทยาลัยหรือวิทยาเขต ซึ่งรับผิดชอบโดยตรงในการดำเนินการโดยฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่องานวิชาการ สำนัก/กองวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ
- จำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตภายในมหาวิทยาลัยที่ใช้งานพร้อมๆ กัน ยิ่งมีมากจะเป็นผลให้มีปริมาณข้อมูลเข้ามาจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมาก และผู้ใช้จะรู้สึกว่าใช้อินเทอร์เน็ตได้ช้าลง

5. ห้องน้ำชั้นล่างด้านนอกอาคารห้องสมุดเหม็นมากอยากให้ทำความสะอาดบ่อยๆ หน่อย
ชี้แจง
5.1 ในช่วงที่ปรับปรุงอาคารภายในห้องสมุด ส่วนใหญ่ช่างที่ทำงานจะใช้ห้องน้ำในส่วนนี้ ซึ่งอาจมีเศษดิน เศษฝุ่นติดไปกับรองเท้าก็ทำให้ห้องน้ำเลอะเทอะ
5.2 จากการสอบถามแม่บ้านที่ทำความสะอาดห้องน้ำดังกล่าว บอกว่าในช่วงปรับปรุงระบบไฟฟ้าห้องสมุดชั้น 2 มีหนึ่งสัปดาห์ที่แม่บ้านไม่ได้เข้าไปทำความสะอาดจึงอาจทำให้เกิดกลิ่นเหม็น เนื่องจากไฟฟ้าดับทำให้ห้องน้ำมืด เมื่อสอบถามวิศวกรคุมงานของผู้รับจ้างได้รับคำชี้แจงว่า ในการปรับปรุงระบบไฟฟ้าจำเป็นต้องตัดไฟฟ้า และไฟฟ้าห้องน้ำดังกล่าวเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าห้องสมุดชั้น 2 แต่หลังจากปรับปรุงระบบไฟฟ้าห้องสมุดชั้น 2 เสร็จเรียบร้อยแล้ว แม่บ้านก็ได้ทำความสะอาดตามปกติ สอบถามผู้ใช้บริการก็ไม่มีปัญหา นอกจากนี้ทางสวท. ได้กำชับให้แม่บ้านที่รับผิดชอบดูแลคอยทำความสะอาดห้องน้ำชั้นล่างนอกอาคารบ่อยๆ มาโดยตลอด
6. ที่จอดรถหน้าห้องสมุดเวลาจอดด้านในเอารถออกยากมาก ต้องไปขยับรถที่มาจอดบังทางออกเสมอเลย
ชี้แจง
6.1 สวท. ได้ทำการตีเส้นที่จอดรถไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยแล้ว แต่ด้วยพฤติกรรมของผู้ใช้บริการบางคนที่ไม่เคารพกฎระเบียบ มารยาทของสังคม ไม่จอดรถตามเส้นที่ตีไว้ ทำให้รถจอดกีดขวางทางออกสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันรณรงค์ ปลูกจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมต่อไป
6.2 บางเวลาพนักงานรักษาความปลอดภัยช่วยดูแลให้ผู้ใช้บริการจอดรถให้เป็นระเบียบ แต่การสั่งการพนักงานรักษาความปลอดภัยไม่ได้อยู่ในส่วนของสวท.


7. ค่าปรับโหดมาก อยากให้ลดค่าปรับลงหน่อย
ชี้แจง
7.1 ปัจจุบัน อัตราค่าปรับ 5 บาท ต่อวัน/ต่อเล่ม ถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของมหาวิทยาลัยทั่วไป
7.2 เหตุผลที่ห้องสมุดต้องมีค่าปรับหนังสือเกินกำหนด
7.2.1 เนื่องจากทรัพยากรภายในห้องสมุดส่วนใหญ่จะมีจำนวนจำกัด โดยทั่วไปหนังสือที่จัดหาเข้าห้องสมุดจะมีซ้ำกัน 2 ฉบับเท่านั้น นอกจากมีการร้องขอเป็นกรณีพิเศษ
7.2.2 ห้องสมุดทุกที่จะมีการตั้งกฎระเบียบขึ้นมาเพื่อให้การใช้ทรัพยากรร่วมกันเป็นด้วยความเรียบร้อย จึงจำเป็นต้องกำหนดสิทธิ์การยืม และกำหนดวันส่งคืน เพื่อให้ทรัพยากรห้องสมุดเกิดการหมุนเวียนแก่ผู้ใช้ทุกคนให้ทั่วถึง อีกทั้งยังเป็นการฝึกให้ผู้ใช้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญและทำตามกฎระเบียบของห้องสมุด ส่งหนังสือให้ตรงเวลา
7.3 สาเหตุที่ทำให้มีค่าปรับมากเนื่องจาก
7.3.1 ผู้ใช้บริการค้างส่งหนังสือเกินกำหนดส่งเป็นระยะเวลานาน จึงทำให้ค่าปรับเพิ่มสูงขึ้น บางคนเกินกำหนดกว่า 2 ปี ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่ได้ทวงถามอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งก่อนจบการศึกษาจึงมาติดต่อ
7.3.2 ผู้ใช้บริการทำหนังสือชำรุดหรือหายแล้วไม่มาแจ้งต่อเจ้าหน้าที่จึงทำให้มีค่าปรับเพิ่มสูงขึ้น
7.3.3 ผู้ใช้บริการโดยเฉพาะนักศึกษายืมหนังสือให้เพื่อน แล้วลืมว่ายืมหนังสือเล่มนี้ไป เมื่อเพื่อนไม่มาคืนตามกำหนดจึงทำให้ค่าปรับเพิ่มสูงขึ้นโดยไม่รู้ตัว
7.3.4 นักศึกษานิ่งเฉยไม่สนใจส่งหนังสือตามกำหนด
7.4 วิธีหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดค่าปรับหนังสือ
7.4.1 คืนหนังสือตามวันกำหนดส่ง
7.4.2 ต่ออายุการยืมตามหรือก่อนวันกำหนดส่ง ผู้ใช้สามารถต่ออายุการยืมได้ทั้งทางโทรศัพท์ หรือต่ออายุการยืมด้วยตนเองที่เคาน์เตอร์ หรือผ่านเว็บไซต์ห้องสมุด ผู้ใช้บริการสามารถยืมหนังสือติดต่อกันได้ 2 ครั้ง ถ้าต้องการยืมติดต่อกันมากกว่านั้นไม่ได้ เพราะหนังสือมีจำนวนจำกัด และต้องการให้หนังสือได้หมุนเวียนใช้ร่วมกัน
7.4.3 ตรวจสอบรายละเอียดการยืมคืนของตนเองเป็นประจำเพื่อดูวันกำหนดส่ง ที่เคาน์เตอร์ หรือผ่านเว็บไซต์ห้องสมุด
7.4.4 ห้ามใช้บัตรสมาชิกห้องสมุดยืมหนังสือแทนกัน มิฉะนั้นเจ้าของบัตรจะต้องรับผิดชอบค่าปรับที่เกิดขึ้น
7.4.5 เมื่อเกิดเหตุขัดข้อง เช่นทำหนังสือชำรุด หรือ หนังสือหายให้รีบแจ้งห้องสมุดทันที เพื่อหยุดระบบการคำนวณค่าปรับ และรีบดำเนินการให้แล้วเสร็จด่วน
7.5 กรณีที่จะได้รับการยกเว้นค่าปรับ ผู้ใช้บริการต้องมีเหตุผลเพียงพอในการขอยกเว้น เช่น ได้รับอุบัติเหตุ ไม่สบายแต่ต้องมีใบรับรองแพทย์ด้วย และกรณีที่นักศึกษาไม่มีเงินค่าปรับทางสวท. ก็อนุโลมให้นักศึกษามาทำงานที่ห้องสมุดเพื่อชำระค่าปรับที่ค้างอยู่ โดยคิดเป็นชั่วโมงละ 25 บาท หรือถ้านักศึกษาไม่มีเงินชำระและไม่มีเวลาทำงานเพื่อชำระค่าปรับหนังสือจริง ๆ นักศึกษาก็ต้องให้อาจารย์ที่ปรึกษาทำเรื่องขอยกเว้นค่าปรับหรือขอชำระค่าปรับครึ่งราคา
7.6 การทวงหนังสือที่ค้างส่ง
ห้องสมุดจะมีการส่งหนังสือทวงหนังสืค้างส่งทุกเดือน (ยกเว้นในช่วงปิดภาคเรียน) โดยส่งไปยังสาขาวิชาต่าง ๆ แจ้งให้อาจารย์ที่ปรึกษาทราบ และประสานนักศึกษาว่าค้างส่งหนังสืออะไรบ้าง เพื่อให้ส่งคืนหนังสือที่ค้างส่ง

โดย : อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
เมื่อ : 2009-12-18 09:24:00