คำถาม : ศธ.ปรับเงินเดือน ค่าครองชีพ 15000 เตรียมเสนอ ก.ค.ศ. วันที่ 13 ก.พ. นี้ แล้ว มทร.อีสาน ล่ะครับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวภายหลังการหารือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กรณีปรับขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ศึกษาจบปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท ว่า การปรับขึ้นเงินขั้นต่ำเป็น 15,000 บาท ที่เตรียมเสนอที่ประชุม ก.ค.ศ.วันที่ 13 ก.พ.นี้ จะมีข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษาทุกสังกัดศธ.ได้ปรับขึ้นรวมประมาณ 90,000 คน แบ่งเป็นสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 76,126 คน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จำนวน 3,153 คน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จำนวน 2,826 คน วิทยาลัยชุมชน (วชช.) จำนวน 145 และสถาบันพัฒนาครูคณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา (ส.ค.บ.ศ.) จำนวน 16 คน
ปลัด ศธ. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงครูและบุคลากรของสถาบันการพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จำนวน 668 คน และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม จำนวน 1,155 คน โดยใน 90,000 คนนี้ ต้องใช้งบประมาณ 170 ล้านบาท ถึงจะปรับเงินเดือนเป็น 15,000 บาท ได้ เบื้องต้นในการหารือ ตนนัดให้แต่ละสังกัดไปจัดทำตาราง Excel มาใหม่ โดยให้ระบุรายละเอียดว่าแต่ในจำนวนครูและบุคลากรที่จะได้ปรับขึ้นนั้น ใครอยู่ขั้นตำแหน่งอะไร และแต่ละตำแหน่งมีกี่คน โดยให้ส่งมาในวันที่ 9 ก.พ. นี้ เพื่อเสนอเป็นข้อมูลให้ที่ประชุม ก.ค.ศ.พิจารณาต่อไป ปลัดศธ. กล่าวอีกว่า สำหรับข้าราชการกลุ่มที่สองเป็นข้าราชการครูที่มีตำแหน่งวิทยฐานะระดับ คศ.2 หรือระดับวิทยฐานะชำนาญการ ที่มีปัญหาเต็มเพดานเงินเดือนแล้ว แต่ไม่สามารถเลื่อนระดับไปรับเงินเดือนในระดับ คศ.3 หรือระดับวิทยฐานะชำนาญการพิเศษได้ เพราะไม่ได้ส่งวิทยฐานะนั้น เบื้องต้นจะเสนอที่ประชุม ก.ค.ศ.ขอให้ขยับขั้นเงินเดือนที่ตันดังกล่าวให้สามารถขยับมารับเงินเดือนของ คศ.3 ได้ แต่ระดับวิทยฐานะยังเป็น คศ.2 เท่าเดิม ซึ่งกลุ่มครูดังกล่าวมีทั้งหมด 51,237 คน ต้องใช้วงเงิน 455 ล้านบาท ทั้งนี้ การปรับเงินเดือนขึ้นทั้ง 2 กลุ่มนี้ต้องใช้งบรวม 500-600 ล้านบาท ให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งสิ้น 140,000 คน น.ส.ศศิธารา กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังหารือกับ สช.กรณีการปรับขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำให้ครูเอกชน ซึ่งพบว่าครูเอกชนที่จบ ป.ตรี มีเงินเดือนเฉลี่ย 11,680 บาท โดยแนวทางการปรับขึ้นเงินเดือนนั้น จะดูหลักเกณฑ์ของโรงเรียนจากจำนวนขั้นต่ำระหว่างครูต่อนักเรียน อย่างระดับประถมครู 1 คนต่อนักเรียน 20 คน และระดับมัธยมครู 1 คนต่อนักเรียน 25 คน แต่หากโรงเรียนที่ไม่ถึงเกณฑ์ดังกล่าวก็อาจจะปรับเงินเดือนขึ้นยาก เพราะรัฐอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวตามจำนวนเด็ก คือ หากเด็กมีจำนวนมากก็จะได้รับการอุดหนุนมาก หากเด็กจำนวนน้อยก็จะได้รับเงินอุดหนุนน้อย และอาจมีเงินไม่พอไปจ่ายเงินเดือนครูเป็น 15,000 บาทได้ ดังนั้นจึงให้ สช.ไปเก็บข้อมูลว่าโรงเรียนตามหลักเกณฑ์มีกี่โรง และโรงเรียนไม่ได้ตามหลักเกณฑ์มีกี่โรง เพื่อวางแผนแก้ปัญหาต่อไป "ข้อมูลดังกล่าวจะสรุปภายในวันที่ 8 ก.พ.นี้ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ในวันที่ 9 ก.พ. และเสนอให้นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ พิจารณา ทั้งนี้ กรณีจำนวนครูต่อนักเรียนต่ำกว่าหลักเกณฑ์คงต้องมาหารือกัน เพราะกรณีนี้รัฐจะต้องจ่ายมากขึ้น ร.ร.เองต้องจ่ายมากขึ้นเช่นเดียวกันซึ่งอาจไม่คุ้ม ดังนั้น ก็จะหาวิธีแก้ปัญหาดังกล่าวต่อไป สำหรับภาพรวมของ ศธ.ทั้งหมดจะเสร็จสิ้นทุกกระบวนการทั้งผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาทันในเดือน มี.ค.แน่นอน และหากมีการประกาศใช้แล้วรัฐก็จะจ่ายเงินเดือนย้อนหลังตั้งแต่เดือน ม.ค.ให้ด้วย" ปลัดศธ. กล่าว ที่มา http://www.perdsorbtoday.com/education_detail.php?topic=4094 |
โดย : พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา เมื่อ : 2012-02-08 12:12:00 |
คำตอบ
1. กลุ่มพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาที่จะได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว 5% นั้น ขณะนี้กองคลังกำลังดำเนินการ
2. กลุ่มข้าราชการ และลูกจ้างประจำ ที่มีสิทธิ์ได้รับเงินเพิ่มการครองชีพ เพื่อให้มีรายได้ 15,000 บาท/เดือน นั้น ขณะนี้ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้ว และกองคลังกำลังดำเนินการ 3. เงิืนเพิ่มการครองชีพชั่วคราวเพื่อให้มีรายรับ 15,000 บาท/เดือน ของกลุ่มพนักงานในสถาบันอุดมศึกษานั้น สำนักงบประมาณแจ้งว่าไม่ได้ขอตั้งงบประมาณของปีงบประมาณ 2555 ไว้ อาจขอใช้เงินที่หักไว้เป็นเงินสวัสดิการและค่าตำแหน่งทางวิชาการมาจ่ายสำหรับปีงบประมาณ 2555 ส่วนปีต่อไปจะเสนอขอตั้งงบประมาณ กำลังศึกษาหาวิธีดำเนินการว่าจะขออนุมัติสภามหาวิทยาลัยฯ และกระทรวงการคลังด้วยหรือไม่ อย่างไร 4. สำหรับกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวรายเดือนนั้น รัฐบาลไม่ได้จัดงบประมาณสมทบเป็นเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวให้ ให้แต่ละมหาวิทยาลัยพิจารณาจ่ายจากเงินนอกงบประมาณ (เงินรายได้) ถ้ามีเงินนอกงบประมาณเพียงพอ สำหรับข้อ 3. และ ข้อ 4. กลุ่ม 9 มทร. จะประชุมหารือแนวทางการดำเนินการที่ มทร.กรุงเทพ เร็ว ๆ นี้ |
โดย : อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เมื่อ : 2012-02-23 16:04:00 |