คำถาม : เหตุใด สายสนับสนุนจึงไม่มีสิทธิทางด้านการเลือกตั้งทุกประเภทฯ
ผมเป็นพนักงานในสถาบัน(สายสนับสนุน) มทร.อีสาน ครับ อยากเรียนถามถึงอธิการบดีว่าเหตุใดจึงไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียงเหมือนสายสอน(สายวิชาการ) ซึ่งเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเหมือนกัน ซึ่งต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น ที่สายสนับสนุนมีสิทธิ์เหมือนกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเลือก สภาคณาจารย์ ไปจนถึงเลือกตั้งอธิการบดี มันจะเป็น 2 มาตรฐานหรือเปล่าครับ (มีชื่อลงเลือกตั้ง แต่ไม่ให้เลือกตั้ง) |
โดย : 2 มาตรฐาน เมื่อ : 2011-10-05 22:50:00 |
คำตอบ
กองบริหารงานบุคคล ขอเรียนชี้แจงดังนี้
กรณีการเลือกตั้งสภาคณาจารย์ นั้น ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ว่าด้วยสภาคณาจารย์และข้าราชการ พ.ศ. 2553 ข้อ 15 กำหนดว่า "ผู้มีสิทธิืเลือกตั้งกรรมการสภาคณาจารย์และข้าราชการ ได้แก่คณาจารย์และข้าราชการซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประจำหรือช่วยราชการอยู่ในเขตเลือกตั้งที่มีการเลือกตั้งเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง" พิจารณาตามข้อบังคับข้างต้นแล้วเห็นว่า กรณีนี้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกรรมการสภาคณาจารย์และข้าราชการ นั้นจะต้องเป็นคณาจารย์และข้าราชการซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประจำหรือช่วยราชการอยู่ในเขตเลือกตั้งที่มีการเลือกตั้งเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งคำว่าคณาจารย์และข้าราชการนั้น ตามคำนิยามในมาตรา 4 แห่งข้อบังคับฉบับข้างต้น ได้ให้ความหมายว่า คณาจารย์และข้าราชการ หมายถึง ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัย ซึ่งพิจารณาจากข้อความดังกล่าวสามารถสรุปได้ว่าผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งกรรมการสภาคณาจารย์นั้น หาได้มีการกำหนดไว้เป็นการเฉพาะว่าจะต้องเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา (สายวิชาการ) แต่อย่างใด ดังนั้น กรณีนี้ หากผู้สอบถามเป็นผู้มีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วนตามข้อ 15 แห่งข้อบังคับข้างต้น ผู้สอบถามก็มีิสิทธิตามกฎหมายที่จะเลือกตั้งกรรมการสภาคณาจารย์และข้าราชการได้ ถึงแม้ว่าผู้สอบถามจะเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา (สายสนับสนุน) ก็ตาม กรณีการเลือกตั้งอธิการบดีนั้น พิจารณาตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี พ.ศ. 2552 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการเกี่ยวกับการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานว่าผู้ที่มีสิทธิลงคะแนนเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานได้นั้น จะต้องเป็นผู้่ดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานเท่านั้น ดังนั้น กรณีการเลือกตั้งอธิิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุน ก็หาได้มีสิทธิที่จะลงคะแนนเลือกตั้งได้แต่อย่างใด ด้วยเหตุและผลดังกล่าวนั้น จึงสรุปได้ว่าพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุนนั้น มีสิทธิต่าง ๆ ภายในกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรื้อกฎหมายใดของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานอย่างเท่าเทียมกัน และมิได้มีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมแก่บุคคลกลุ่มใดทั้งสิ้น |
โดย : อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เมื่อ : 2011-10-19 16:20:00 |