วิธีหรือมาตรการจัดการโดยตรงเพื่อถนอมรักษา และใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่นิยมใช้มี 7 วิธี คือ

          1.1 การถนอม (Reduce) เป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คงสภาพต่าง ๆ ทางธรรมชาติไว้ ทั้งปริมาณ และคุณภาพ ให้มีอยู่หรือยั่งยืนตลอดไป วิธีการนี้ใช้ได้กับการจัดการทรัพยากร ดิน ป่าไม้ สัตว์ป่า ทิวทัศน์ ธรรมชาติ เช่น การเพาะปลูกแบบขั้นบันไดและการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่สูงชัน เพื่อป้องกันดินพังทลาย การตัดไม้ หรือ ทำไม้ในป่าไม้ ไม่ให้เกินกำลังงอกพร้อมกันนั้นก็ปลูกป่าทดแทนไปในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้การผสมเทียม และปล่อยปลาลงไปในแหล่งน้ำต่าง ๆ ตลอดจนการเผยแพร่พันธุ์ปลาในวันสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นวันประมงแห่งชาติ การจัดพื้นที่ในรูปอุทยานแห่งชาติ สวนป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า สวนพฤกษศาสตร์วรรณคดี เป็นต้น

          1.2 การบูรณะ หรือปรับปรุงให้กลับฟื้นสภาพ (Repair) หมายถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ได้โดยตลอดไปด้วย การรู้จักบูรณะและปรับปรุงทรัพยากรด้วย การรู้จักบูรณะและปรับปรุงทรัพยากรที่ใช้มานาน จนเสื่อมคุณภาพ และใช้ประโยชน์ไม่ได้แล้วให้กลับมีคุณภาพและใช้ประโยชน์ได้อีก อาทิ การปลูกป่าทดแทน หรือการปลูกสร้างสวนป่า การปรับปรุงแก้ไขดินเปรี้ยว ดินเค็ม ให้ใช้เพาะปลูกได้ดังเดิม การแก้ไขมลภาวะของน้ำ การผสมเทียมพันธุ์พืช และสัตว์ ที่ใกล้จะสูญพันธุ์

          1.3 การปรับปรุงให้ดีกว่าสภาพธรรมชาติ (Recovery) ในบางกรณีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับการปรับปรุงเพื่อให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่า เช่นการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรกรพยายามปรับปรุงให้ใช้ได้ตลอดปี คือ ปลูกซ้ำที่ได้ 2-3 ครั้ง หรือมากกว่านั้นภายในหนึ่งปี และปลูกได้หลาย ๆ อย่างเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดการเสี่ยงเรื่องการตลาดตลอดจนปรับปรุงให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงสุดเท่าที่จะปรับปรุงสมรรถนะของดินที่ใช้เพาะปลูกได้ ทั้งนี้โดยได้รับความช่วยเหลือจากโครงการปฏิรูปที่ดิน หรือโครงการจัดรูปที่ดินเป็นสำคัญ หรือการสร้างเขื่อนเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ น้ำที่เก็บกักไว้ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่าสภาพตามธรรมชาติ กล่าวคือ สามารถนำเอาน้ำมาหมุนกังหันน้ำ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า น้ำที่หมุนเวียนผ่านกังหันน้ำ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า น้ำที่หมุนเวียนผ่านกังหันน้ำแล้วส่งไปใช้ในการชลประทาน การอุตสาหกรรมหรือเพิ่มยกระดับน้ำ เพื่อการขนส่งตามแม่น้ำลำคลองในฤดูแล้ง

          1.4 การผลิตและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ (Renewall) มาตรการนี้นิยมใช้กับ ทรัพยากรธรรมชาติประเภทที่สิ้นเหลืองหมดไป คือใช้แล้วหมดไป ได้แก่ ทรัพยากรแร่ชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะพลังงาน เชื้อเพลิง ไม่ว่าจะเป็น ถ่านหิน หินน้ำมัน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ต้องมีมาตรการที่ระมัดระวัง รอบคอบในการนำมาใช้ทุกขั้นตอน คือ ตั้งแต่ขบวนการผลิตจนกระทั่งจำหน่าย และใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าที่สุด เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องมือ เครื่องจักรในการผลิต การขนส่ง ตลอดจนกระบวนการใช้ก็ต้องพยายามให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด หรือในกรณีที่ประเทศกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน (OPEC) เห็นว่าทรัพยากรของตนคือ น้ำมัน ที่ประเทศอุตสาหกรรมซื้อไปนั้นราคาถูกมาก เมื่อเปรียบเทียบกับราคาสินค้าสำเร็จรูปที่ต้องซื้อกลับมา และในไม่ช้าบ่อน้ำมันก็จะแห้งหมด เหลือแต่ทะเลทรายประชาชนจะทำอย่างไร จึงจำเป็นที่จะต้องขายน้ำมันให้ได้ราคาสูงสุด และลดปริมาณการผลิตลง หรือควบคุมปริมาณ เพื่อให้ทรัพยากรนี้ คงอยู่ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งก็ตรงกับหลักการของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในแง่ประเด็นนี้พอดี

          1.5 การนำเอามาใช้ใหม่ หรือการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เป็นมาตรการที่ช่วยให้มนุษย์ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้คุ้มค่าที่สุดและมีประสิทธิภาพวิธีหนึ่ง เพราะทรัพยากรธรรมชาติประเภทที่หมดสิ้นไป แต่เมื่อใช้หมดสภาพแล้วสามารถนำมาประดิษฐ์ใหม่ โดยเฉพาะสินแร่ โลหะ ที่เป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ที่ชำรุดใช้การไม่ได้แล้วสามารถนำมาหล่อหลอมประดิษฐ์ให้ใช้ได้ใหม่ ทำให้ปริมาณความต้องการใช้ และการขุดสินแร่โลหะลดลง ขณะเดียวกันประเทศต่าง ๆ ก็พยายามปรับปรุงวิธีประดิษฐ์เครื่องใช้ที่เป็นโลหะจากของเก่าให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น เช่น การนำทองแดงมาหลอมใช้ใหม่ของสหรัฐอเมริกา การใช้เศษเหล็กเก่าผสมในการถลุงเหล็กของญี่ปุ่น แม้แต่กระดาษที่ใช้แล้วก็สามารถนำไปหมักเพื่อทำเยื่อกระดาษได้เช่นกัน

          1.6 การใช้สิ่งอื่นแทน มาตรการนี้ปัจจุบันนิยมใช้กัน เช่น โรงงานอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นที่สร้างรถจักรยานยนต์ จะใช้พลาสติกเป็นชิ้นส่วนบางชนิดในรถจักรยานยนต์ เช่น บังโคลน หรือใช้อะลูมิเนียม ดีเทเนียมแทนเหล็ก ใช้กระเบื้องแทนสังกะสี ใช้ไม้อัดและกระดาษอัดแทนไม้ เป็นต้น ด้วยการศึกษา วิจัย ค้นหาคุณประโยชน์และวิธีการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่แล้วแต่ได้ปล่อยทิ้งไว้อย่างไม่มีประโยชน์ หรือ ไม่เห็นคุณค่า หรือยังใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า เช่น พลังงาน แสงแดด พลังงานลม พลังงานคลื่นในมหาสมุทร การตรวจสอบ และการพัฒนาการประมงน้ำจืด การพัฒนาระบบการปลูกพืชให้เหมาะสมกับสมรรถนะของที่ดินแต่ละแห่ง การพัฒนาการผลิต แมงกานิสชนิดเกรดเคมีแปลงให้เป็นชนิดเกรดแบตเตอรี่ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตถ่านไฟฉาย และอุปกรณ์สื่อสาร หรือการพัฒนาประดิษฐ์โลหะผสมที่มีคุณภาพพิเศษต่าง ๆ เช่น เหล็กกล้าผสมนิเกิลได้เหล็กที่ไม่เป็นสนิมและแม่เหล็กไม่ดูด ซึ่งเรียกว่า สแตนเลส เป็นต้น (วันเพ็ญ สุรฤกษ์, 2523)

          1.7 การปฏิเสธหรืองดใช้ (Rejcet) สิ่งที่เห็นว่าเป็นการทำลาย หรือสร้างมลพิษให้เกิดขึ้นแก่สิ่งแวดล้อม